คุณธรรมต้องนำเทคโนโลยี

--

สมัยที่ผมกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่นั้น ผมทำงานเป็นผู้ช่วยสอนในวิชาไมโครโปรเซสเซอร์ ให้มหาวิทยาลัยด้วย วิชานี้เป็นวิชาปี 4 ซึ่งมีนักเรียนเรียนประมาณ 30 คนและมีวิชาแลปประกอบด้วยซึ่งผมเป็นคนที่ฉายเดี่ยวคุมแลปอยู่คนเดียวเลยช่วงนั้นได้ทำงานกับนักเรียนอเมริกันเยอะมากเพราะที่มหาวิทยาลัยที่ผมเรียนนั้นในระดับปริญญาตรีแทบจะเป็นคนอเมริกันทั้งหมด มีอยู่ปีหนึ่งในห้องมีนักเรียนอเมริกันซึ่งเป็นคนผิวดำหน้าตาหล่อเหลามากสไตล์ดาราแดนเซอร์ วอชิงตัน คนนี้ก็เป็นคนที่ผลการเรียนใช้ได้ดีทีเดียว วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งอยู่ในห้องพักเขาก็เดินมาคุยเรื่องวิชาผมเห็นเขาถือหนังสือคัมภีร์แห่งเต๋ามาด้วยก็เลยถามว่า เออนะเขาสนใจปรัชญาด้วยหรือเขาก็ตอบว่าอันที่จริงแล้วตอนนี้เขาไปฝึกวิชาป้องกันตัวคาราเต้อยู่อาจารย์ที่สอนวิชานี้เป็นคนสั่งให้เขาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็บอกว่าวิชาการต่อสู้นั้นเป็นของรุนแรงจะต้องมีธรรมะควบคุมอยู่ด้วย ทำให้ผมทึ่งมากว่าการสั่งสอนแค่วิชาป้องกันตัวง่ายๆผู้สอนก็ยังมีความลึกซึ้งและเข้าใจในเรื่องนี้

ทำให้นึกว่าวิชาการทั้งหลายที่เราสอนนักเรียนไปนั้นที่จริงนอกจากจะเป็นของประกอบอาชีพแล้วยังทำให้เขาเป็นคนฉลาดเป็นคนที่มีความสามารถเป็นคนที่สามารถพัฒนาตนเองไปได้เรื่อยๆให้มีความสามารถเหนือผู้อื่นซึ่งคนเหล่านี้ถ้าเป็นคนที่มีธรรมะในใจเป็นคนที่มีทัศนคติที่ถูกต้องก็จะเป็นคนที่เป็นประโยชน์กับสังคมออกไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติออกไปช่วยเหลือผดุงสังคมให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปอย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือคนเหล่านี้หากเป็นคนที่ขาดธรรมะในใจก็จะใช้ความสามารถและความฉลาดที่เราสร้างมาเอาเปรียบผู้อื่นเอาเปรียบสังคมเพื่อให้ตนเองได้ดีมีสุขอยู่คนเดียวสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก

ดังนั้นในการสอนหนังสือนักเรียนสิ่งที่สำคัญมากกว่าวิชาการคือสอนให้เขาเป็นคนดีสอนให้เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรควรสอนให้นำน้อมถ่อมตนสอนให้มีธรรมะในใจ สอนให้เขามีหลักการที่ไม่เอาเปรียบผู้อื่นและเบียดเบียนสังคมในตอนนี้ซึ่งเป็นยุคที่อันตรายเพราะว่าเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ และสังคมมนุษย์ได้พึ่งพาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มากมายมหาศาลกว่าเก่า ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน เทคโนโลยีด้านโรงงานอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ สังคมมนุษย์พึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้ในการเก็บสิ่งที่สำคัญและมีค่าต่างๆในรูปของข้อมูล ทั้งข้อมูลทางการเงินข้อมูลส่วนบุคคลข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพของเราต่างเก็บอยู่บนระบบคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้นทำให้เรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องน่ากังวลที่สุดคือเรื่องของ Cyber Security เพราะข้อมูลนั้นมีค่ามหาศาลจึงมีผู้ที่จะต้องการขโมยข้อมูลต่างๆนำไปใช้หรือทำให้เกิดความสูญเสียในทรัพย์สินได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือความตระหนักรู้ในเรื่องของธรรมะในอาชีพหรือ Ethics ที่ควรจะเป็นในอาชีพนักคอมพิวเตอร์

ยิ่งไปกว่านั้นโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ผู้คนเริ่มตื่นตัวว่านอกจากที่คนเราจะต้องมีธรรมะแล้วระบบปัญญาประดิษฐ์ก็ต้องมีธรรมะ ดังนั้นโปรแกรมเมอร์ซึ่งสร้างปัญญาประดิษฐ์จึงต้องมีธรรมะแล้วสร้างปัญญาประดิษฐ์ให้มีธรรมะด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการตัดสินใจที่เอนเอียงเข้าข้างผู้หนึ่งผู้ใดหรือทำให้ผู้อื่นเสียโอกาสหรือเป็นอันตราย

ความกังวลเหล่านี้ที่จริงคนหนึ่งที่ผมนับถือคือ Isaac Asimov นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ผมอ่านตอนเด็กๆเขาได้เขียนนิยายหลายชุดเกี่ยวกับโลกในอนาคตซึ่งมนุษย์เราพึ่งพาหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์อย่างมาก เขาได้บัญญัติ กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามแรกที่จะกำหนดศีลธรรมของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่น่าสนใจ โดยกฎทั้ง 3 ข้อนั้นสรุปสั้นๆได้ว่า

ข้อที่ 1 หุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายหรือปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย

ข้อที่ 2 หุ่นยนต์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของมนุษย์ยกเว้นกับขัดกฎข้อที่ 1

ข้อที่ 3 หุ่นยนต์ต้องรักษาความคงอยู่ของตัวเองให้นานที่สุดยกเว้นจะขัดกับกฎข้อที่ 1 และข้อที่ 2

จะเห็นว่ากฎทั้ง 3 ข้อนี้สั้นและเข้าใจง่าย ได้ น่าสนใจว่าจะเอามาปรับใช้ในโลกของปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอย่างไรบ้าง แต่ข้อสรุปที่อยากจะสื่อก็คือว่า ในยุคนี้การสร้างคนในวงการเทคโนโลยีสูงเราไม่สามารถจะสร้างคนให้มีความเก่งทางวิชาการอย่างเดียวแต่ต้องสร้างคนที่มีจิตใจสูงมีธรรมะสูงและมีจรรยาบรรณทางอาชีพสูงด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ไปทำอันตรายหรือเอาเปรียบสังคม หวังว่าวงการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสูงๆ จะร่วมกันต้องคำนึงถึงข้อนี้ไว้ให้มากนะครับ

--

--

Putchong Uthayopas
Putchong Uthayopas

Written by Putchong Uthayopas

อาจารย์ภุชงค์ สอนคอมพิวเตอร์อยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.เกษตร ทำงานด้าน Supercomputer มาชั่วชีวิต นอกเวลางานชอบ ถ่ายรูป อ่านหนังสือ อุ้มแมว ดูหนังดีดี

No responses yet