ความคิดเล็กเล็กจากการสอบนักเรียนปริญญาเอก
เมื่อวาน สอบ Qualify ปากเปล่านักเรียนปริญญาเอกคนหนึ่ง ลูกศิษย์เพื่อนรุ่นน้อง นักเรียนคนนี้เป็นคนที่เก่งมาก การสอบพวกนี้ เป็นการเอาวิชาสำคัญต่างๆ จำนวนหนึ่งมาเป็นหัวข้อ ให้ นักเรียนไปซุ่มซ้อมมา แล้วกรรมการ สามคน รวม advisor ช่วยกันถาม เพื่อ ดูว่า เขา มี ความรู้พอทำวิจัยไหม และ ดูกระบวนการคิดเขา ต้องบอกว่า นักเรียนคนนี้เป็นคนเก่ง ครับ ตอบได้ดีมากมากเลย ผ่านสบาย ดีกว่าผมตอนอายุเท่าเขาอีก หลังสอบแล้วทำให้นึกถึงความหลังหลายเรื่อง และ นึกถึงสิ่งที่ ต้องสอนเด็กต่อไป สองสามประการ
ประการแรก การวางระบบความคิดที่เป็น system และมี methodology และ การที่ เข้าใจเทคโนโลยีวิธีการอย่างจริงจังแบบ deep deep ผมพบว่านักเรียน เก่งๆ หลายคน นั้นยังคิดไม่เป็นระบบ ตอนนี้เรามี google และ stack overflow ทำให้เกิด นักพัฒนาและวิจัยพันธ์ใหม่ เรียกว่า stack overflow engineer คือ ภูมิใจในการแก้ปัญหาโดยการค้นคำตอบที่ stack overflow แล้วมาทำตาม พอแก้ได้ตาม ตำรากับข้าว (Cook book) นั้นก็ภูมิใจนักหนา ปัญหา คือ พอมี ตำรากับข้าวหลายอัน ก็จะเริ่มมั่วเพราะหลักคิดยังไม่แน่น ผมเชื่อว่า พวกนี้ เกิดจากการอยากเห็นผลเร็ว ปัญหา คือ ปัญหาที่ยากและซับซ้อน จะแก้ไม่ได้
การคิดแก้ปัญหา อย่าคิดเป็นจุดจุด ต้อง มี หลักการและกระบวนการที่ชัดเจน หรือ methodology มาครอบคลุมไว้ก่อน จากหลักการ ลงมารายละเอียด แล้วค่อย ไล่ไป เหมือนการ debug โปรแกรม ต้องไล่จากใหญ่มาเล็กอย่างเป็นระบบ หรือ การ tune สมรรถนะของระบบอะไรก็ตาม นักเรียนจะบอกว่า ใส่ โน่น นี่ ให้เร็ว เป็นจุดจุด แต่ ตามหลักต้องเริ่มจาก ระบบนั้นมีกี่องค์ประกอบ ความเร็วของแต่ละองค์ประกอบขึ้นกับอะไร เชื่อมโยงกันอย่างไร จากนั้นค่อยลงแต่ละส่วน จะ optimize อย่างไร ผมเองเชื่อว่าการสอนนักเรียน ต้องให้เข้่าใจตรงนี้ และสอนให้เห็นหลักคิด ที่เป็นระบบ ในวิชานั้น ไม่ต้องไปลงละเอียดยากยาก เป็นหย่อมหย่อม หลักคิดพวกนี้ เป็นของที่ Powerful และ Life time ครับ ตัวอย่างหนึ่ง คือ ถามเด็กเรื่อง Amdahl’s law นักเรียนก็จะบอกสูตรมา บอกวิธีใช้มา อย่างถูกต้อง ปัญหา คือ พอลง detail แล้วหลักการที่งดงามมันหาย หลักการของ Amdahl’s law คือ ถ้าเรามีระบบหรือกระบวนการอะไรก็ตาม ถ้าจะเร่งให้เร็วขึ้นมันจะมี factor ใหญ่อยู่สองประการ ประการแรกคือ มีกี่ส่วนที่ เราเร่งความเร็วได้ เช่น ใช้ CPU เร็วขึ้น หน่วยความจำเร็วขึ้น factor ประการที่สอง คือ อัตราส่วนของ งานที่ทำในส่วนนั้น ขึ้นกับเวลาทั้งหมด ถ้า ระบบไม่ได้ทำงานนั้นมากมาก บ่อยๆ เร่งไปก็ไม่เร็ว เราต้อง profile หาส่วนที่ทำงานหนักที่สุดก่อน ไปเร่งตรงนั้นผลกระทบเชิงสมรรถนะจะสูง พอเข้าใจหัวใจของหลักการแล้ว สามารถพลิกแพลง ไป ทอดไข่เร็วขึ้น ทำกับข้าวเร็วขึ้น ขนของเร็วขึ้นได้ทุกสิ่งอย่างครับ จำไว้ว่า จากหลักการ สู่วิธีการ เท่านั้น
ประการที่สอง การสร้างความเชื่อมโยง เพราะ นักเรียนมักจะไม่เห็นความเชื่อมโยง ของทุกสิ่ง และไม่เข้าใจว่า ความเชื่อมโยงนี่แหละที่ทำให้ ความคิด มัน powerful เพราะ ความคิดแต่ละอันเหมือนไข่มุกทีละเม็ด ต้องร้อยเรียงให้งดงามเหมือนสร้อยไข่มุก ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ขอยกตัวอย่างจากหนังสือจีนกำลังภายใน แล้วกัน ในหนังสือกำลังภายใน เรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร อาจารย์ปู่ ฮวงเช็งเอี้ยง บอกให้ พระเอก คือ เหล็งฮู้ชง ใช้กระบวนท่าสองท่าออกมา พระเอกเถียงว่า ท่าแรก จบที่กระบี่อยู่ข้างบน ท่าที่สองเริ่มจาก กระบี่อยู่ด้านล่างมันไม่ต่อกัน ท่านอาจารย์ปู่ก็เลยด่าว่า เจ้าโง่ ไม่รู้จักลากมือลงมา จากบนลงล่างเหรอ แล้วก็ใช้ท่าต่อไป ระหว่ากระบวนท่า ก็ร้อยเรียงไร้ช่องโหว่ พอพระเอกจับเคล็ดนี้ได้ ก็เก่งขึ้นทันที เพราะทุกท่าสามารถร้อยเรียงใช้ร่วมกันได้ การร้อยเรียงต้องเรื่มจากในวิชาการหัวข้อหนึ่ง จนรวมหลายหัวข้อได้ เพราะปัญหาจริงในชีวิตมักจะต้องใช้หลายวิชา หลายศาสตร์ ร้อยเรียงมาแก้ไข ต้องหัด connect the dot กันเก่งเก่งครับ
ประการที่สาม การนำไปประยุกต์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพราะนักเรียนหลายคนเรียนเพื่อสอบ อยากให้เรียนเพื่อใช้ แนวคิดในการเรียนจะต่างกัน เรียนเพื่อสอบทำโจทย์มากมาก ก็สอบได้ แต่ไม่เข้าใจมาก เรียนเพื่อใช้ต้องเข้าใจมาก เชื่อมโยงกัน และ นำไปใช้งานได้ ซึ่ง มันเป็นอะไรที่ powerful มากกว่ามาก ที่ลำบาก คือ คนที่เรียนด้วย passion ด้วย ความอยากรู้ ลดลงมาก เพราะดูเหมือนระบบการศึกษาและสังคม ให้ความสำคัญกับการสอบมากกว่าความรู้ เลยทำลายความอยากรู้อยากเห็นไปในตัว ใครสนใจลองฟัง TED Talk ของ Ken Robinson เรื่อง Do school Kill Creativity และคำตอบคือ Yesนะครับ
ประการที่สี่ การจับหลักการและจิตวิญญาณของวิชานั้น เพราะ พอเราทำงานหรือวิจัยมากมากเข้า ต้องค้นหาหลักการและจิตวิญญาณ ของศาสตร์นั้นให้เจอ และ หลอมมาอยู่ในตัวเรา อันนี้ยากที่สุดที่จะสอน ตอนนิสิตคนสุดท้ายจบ ทำงานวิจัยมา สี่ห้าปี ผมถามเขาว่า อ้าว ลองเล่าสิว่าคุณทำอะไรมาในสองสามประโยค เขางงมากเลย จนผมบอกให้เขาก็ตกใจว่า ที่ทำมาหลายปีมีค่นี้เองเหรอ แต่นั่นแหละครับ คือ หัวใจ ถ้าจับได้ก็จะบรรลุขั้น ปรัชญาของศาสตร์นั้น เป็น Ph.D เต็มตัว (นั่นคือ ทำไมคนจบ ปริญญาเอกน่ะเขาให้ปริญญาทาง ปรัชญา หรือ Doctor of Philosophy นะครับ) หลักการสั้นๆ นี่ เอง พลิกแพลงใช้ได้มหาศาล
สอบสอบไปก็ได้คิดว่างานเรายากนี่นา เพราะสอนเรื่องพวกนี้เหนื่อย มากมากครับ ทั้งคนสอนคนเรียน แต่ก็ต้องสอนครับ ความภูมิใจของอาจารย์ คือ มีศิษย์ที่ เติบโตแล้วเก่งกว่าเรา อนาคตของชาติขึ้นกับตรงนี้แหละครับ