ยอมเป็นผู้ต่ำต้อยจึงรักษาตนไว้ได้
พักนี้ไปประชุมเจอคนเก่งเก่ง มากมาย ทำให้นึกถึงคัมภีร์แห่งเต๋าบทนี้เลย คัมภีร์นี้ผมใช้เป็นหลักของชีวิต อย่างมาก ของเขาดีจริงแต่ต้องใช้ประสบการณ์ชีวิตมากมายค่อยค่อยตีความออกมามากขึ้นเรื่อยเรื่อย ช่วงแรกนี่บอกวิธีที่จะเรียนรู้จากคนอื่น ส่วนที่สองนี่บอกการหัดนิสัยให้เป็นคนทำงานตัวจริง การพัฒนาจนเป็นยอดคนใช้วิถีนี้ ส่วนที่สามนี่ ไว้เอาตัวรอดในสภาวะที่การเมืองเยอะเยอะ เป็นยอดคนซ่อนกาย ถึงจะรอด เท่าที่เห็นเวลาประชุมนี่ ยอดฝีมือที่แท้จริงมาแบบข้อสองทั้งนั้น ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง ไม่เคยอยากให้คนยอมรับเพราะท่านมีชื่อเสียงจนเบื่อ และไม่แสดงวิทยายุทธโดยไม่จำเป็น แต่พอแสดงฝีมือมานี่สุดยอดมากมาก ปีนี้ดีใจได้เรียนรู้อะไรใหม่ใหม่อย่างมากมาย จากท่านท่านเก่งเก่งที่ผมทำงานด้วย หลายท่านเก่งจนผมรู้สึกโง่มาก ทำให้อยากเรียนรู้อะไรอีกมากมาย
บทที่ 22 การไม่แก่งแย่งแข่งขัน
ยอมเป็นผู้ต่ำต้อยจึงรักษาตนไว้ได้
ยอมงอจึงกลับตรงได้
ยอมว่างเปล่าจึงเต็มได้
ยอมเก่าจึงกลับใหม่
ผู้มีน้อยก็จะได้รับ
ผู้มีมากจะถูกลดทอน
ดังนั้นปราชญ์ย่อมรักษาความเป็นหนึ่งเดียวไว้
ท่านจึงกลายเป็นแบบอย่างของโลก
ท่านมิได้แสดงตนให้ปรากฏ ความรุ่งโรจน์ของท่านกลับปรากฏขึ้น
ท่านมิได้ผยองลำพอง ชื่อเสียงของท่านกลับลือเลื่อง
ท่านมิได้โอ้อวดตน ประชาชนกลับไว้วางใจ
ท่านมิได้ภาคภูมิใจ แต่กลับได้เป็นผู้นำของประชาชน
ด้วยเหตุว่าท่านมิได้แก่งแย่งชิงดีกับผู้ใด
จึงไม่มีใครในโลกมาแข่งขันกับท่าน
ตามที่โบราณได้กล่าวไว้ว่า “ ยอมเป็นผู้ต่ำต้อยจึงรักษาตนไว้ได้ “
นี้มิอาจนับได้ว่าเป็นความจริงหรือ ดังนั้นปราชญ์จึงดำรงตนไว้ได้
และโลกทั้งโลกก็ให้ความเคารพ